ออนเซนเข็นกระเป๋า “ชมพระราชวังสนามจันทร์”

ทริปนี้เกิดขึ้นได้เพราะไอเดียของคุณปู่ที่เสนอว่าเราน่าจะขับรถไปเที่ยวจังหวัดนครปฐมกันต่อ หลังจากที่มาให้กำลังใจออนเซนตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลศิริราชเสร็จเรียบร้อย โดยมีจุดหมายปลายทางคือ “พระราชวังสนามจันทร์”

และพอไปถึงประตูทางเข้าก็ถึงได้ทราบว่า “พระราชวังสนามจันทร์” กำลังจะปิดทำการปรับปรุงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป โดยยังไม่มีกำหนดเปิดค่ะ

เราใช้ถนนบรมราชชนนี มุ่งหน้าแยกนครชัยศรี ขับตรงไปประมาณ 8.5 กิโลเมตร พอถึงแยกบ้านแพ้ว ขับตรงไปขึ้นสะพานเข้าตัวเมืองนครปฐม เจอสี่แยกไฟแดงก็เลี้ยวซ้าย (ถ้าตรงไปก็คือพระปฐมเจดีย์ ถ้าเลี้ยวขวาจะเข้าไปยังตลาดนครปฐม ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไป จ.สุพรรณบุรี) สังเกตป้ายพระราชวังสนามจันทร์ มีป้ายบอกทางตลอดค่ะ

พระราชวังสนามจันทร์ตั้งอยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันตกราว 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2450 ตามพระราชดำริของ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6)” ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อเป็นสถานที่ประทับครั้งมานมัสการพระปฐมเจดีย์ และเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตการณ์บ้านเมือง

หลังจากพระองค์สวรรคต พระราชวังสนามจันทร์ใช้เป็นที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ ของจังหวัดนครปฐม รวมทั้งเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันพระราชวังสนามจันทร์อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักพระราชวัง

ที่นี่เปิดบริการตั้งแต่เวลา 9.00 น. – 16.00 น. (ปิดขายบัตรเวลา 15.30 น.) หยุดวันจันทร์ วันนักขัตฤกษ์ และวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีเนื่องในวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

ราคาบัตรผ่านประตู ผู้ใหญ่ 30 บาท, เด็ก นักเรียน นักศึกษา พระภิกษุ สามเณร 10 บาท, ชาวต่างประเทศ 50 บาท ระเบียบของสำนักพระราชวังแจ้งว่าโปรดแต่งกายสุภาพ ห้ามสวมเสื้อแขนกุด เสื้อเอวลอย กางเกงขาสั้น และกระโปรงสั้นเหนือเข่า หากลืมก็มีจำหน่ายผ้าป้ายและผ้าคลุมไหล่ค่ะ อีกทั้งไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในพระที่นั่งหรือพระตำหนักค่ะ

เนื่องด้วยสถานที่กว้างขวางมาก จึงมีบริการให้เช่ารถกอล์ฟ (นั่งได้ 4 ท่าน) ราคาเช่าชั่วโมงแรก 300 บาท ชั่วโมงถัดไปชั่วโมงละ 100 บาท ซึ่งแนะนำว่าควรเช่าค่ะ เพราะถ้าไม่มีเครื่องทุ่นแรง คงหมดแรงก่อนจะได้ชมความงามโดยรอบค่ะ

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ทราบว่า ส่วนสำคัญที่ไม่ควรพลาดชมได้แก่ “พระที่นั่งพิมานปฐม พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และพระตำหนักทับขวัญ” เป็นต้น มีเจ้าหน้าที่นำชมทุก 20 นาที ตั้งแต่ 9.00 น. – 15.40 น. (รวม 21 รอบต่อวัน) ลงทะเบียน ณ พระที่นั่งพิมานปฐม โดยเริ่มนำชมจาก พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งวัชรีรมยา และพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ จากนั้นเราก็เดินชมรอบบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ได้ตามอัธยาศัย

“พระที่นั่งพิมานปฐม” ใช้เป็นที่ประทับที่เสด็จออกขุนนางและที่รับรองแขกเมืองมากกว่าพระที่นั่งและพระตำหนักอื่นๆ ภายในประกอบด้วยห้องต่างๆ อาทิ ห้องพระบรรทม ห้องสรง ห้องเสวย และห้องพระเจ้า ซึ่งเป็นหอพระ เราสามารถมองเห็นองค์พระปฐมเจดีย์ และเทวาลัยคเณศร์ อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันที่ห้องนี้ นับว่าเป็น UNSEEN ของ จ.นครปฐมอีกด้วย ปัจจุบันจัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติ ร.6 และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี

“พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี” สร้างเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานปฐมไปทางทิศใต้ ใช้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ทรงใช้เป็นที่ประทับ ปัจจุบันจัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติ ร.6 และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์รัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี

“พระที่นั่งวัชรีรมยา” เป็นอาคารทรงไทย หลังคาลด 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี ประดับตกแต่งด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง ซึ่งทำด้วยไม้ประดับกระจกอย่างวิจิตรงดงาม ใช้เป็นที่ทรงพระอักษรและเป็นที่ประทับเป็นครั้งคราว ปัจจุบันได้จัดห้องพระบรรทมและห้องทรงพระอักษรให้มีบรรยากาศคล้ายคลึงกับในสมัย ร.6

“พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์” เป็นท้องพระโรง เชื่อมต่อกับพระที่นั่งวัชรีรมยา โดยมีหลังคาเชื่อมติดกัน ได้อัญเชิญพระมหาเศวตฉัตรมาประดิษฐานไปด้วย ใช้สำหรับเป็นที่ประชุมเสือป่า ประกอบพิธีกรรม ซ้อมและเล่นโขนละคร และใช้ในโอกาสสำคัญอื่นๆ ทั้งนี้ชาวบ้านมักเรียกว่า “โรงโขน”

“เรือนพระธเนศวร” พระราชทานให้เป็นที่พักของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นยกกระบัตรเสือป่า

“พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” คณะกรรมการลูกเสือจัดสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ ร.6 ที่ทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิดเสือป่าและลูกเสือไทย

“เทวาลัยคเณศร์” เป็นศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังสนามจันทร์ จัดสร้างขึ้นเพราะมีพระอัธยาศัยโปรดศิลปวิทยาการและการประพันธ์เป็นพิเศษ

“อนุสาวรีย์ย่าเหล” ย่าเหลเป็นสุนัขพันธุ์ทางหางเป็นพวง สีขาวด่างดำ หูตก เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม เป็นสุนัขของหลวงชัยอาญา ซึ่งเป็นพะทำมะรง (ผู้ควบคุมนักโทษ) อยู่ในขณะนั้น ต่อมาได้ถวายลูกสุนัข จึงทรงรับมาเลี้ยงและพระราชทานนามว่า “ย่าเหล” ซึ่งความเฉลียวฉลาดและมีความจงรักภักดีต่อ ร.6 เป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นที่โปรดปรานของพระองค์เป็นอย่างมาก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ย่าเหล หล่อด้วยโลหะทองแดงรมดำ ณ บริเวณด้านหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์

“พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์” มีลักษณะคล้ายปราสาทขนาดย่อม สถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์ของฝรั่งเศส และแบบฮาล์ฟทิมเบอร์ของอังกฤษ เดิมเรียกว่า “พระตำหนักเหล” ชั้นบนมีห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม และห้องสรง ชั้นล่างทางทิศตะวันตกเป็นห้องรอเฝ้า และเคยใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวในการออกแบบสื่อพิมพ์ดุสิตสมิตรายสัปดาห์ ทรงใช้เป็นที่ประทับในฐานะที่ทรงเป็นผู้บัญชาการเสือป่า เมื่อมีการซ้อมรบเสือป่า ณ พระราชวังสนามจันทร์

“พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์” สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ โดยมีฉนวนทางเดินทำเป็นสะพานจากชั้นบนด้านหลังของพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ข้ามคูน้ำเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ จัดสร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากบทละครเรื่อง My Friend Jarlet ของ Arnold Golsworthy และ E.B.Norman

“พระตำหนักทับขวัญ” เป็นพระตำหนักแบบหมู่เรือนไทยเดิมที่สมบูรณ์แบบ ประกอบด้วยเรือนไทย 8 หลัง เรือนทุกหลังมีชานเรือนเชื่อมต่อถึงกัน สร้างขึ้นเพื่อรักษาศิลปะเรือนไทยแบบโบราณ

ออนเซนใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงนิดๆ ในการเดินและนั่งรถกอล์ฟชมพระตำหนักต่างๆ และบริเวณโดยรอบ ที่กว้างขวาง ร่มรื่น เป็นธรรมชาติ ซึ่งออนเซนก็รู้สึกโชคดีมากที่มีโอกาสได้เข้าชม ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่หลายคนจะมองว่าเด็กเล็กๆ แบบออนเซนจะมายังสถานที่แบบนี้ทำไม เดินดูไปก็คงจะจำความอะไรไม่ได้หรอก

แต่ด้วยเทคโนโลยีมือถืออันทันสมัยในยุคปัจจุบัน และโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ ก็จะเป็นเครื่องเตือนความจำให้ออนเซนได้ในอนาคตค่ะ และที่สำคัญก็คือการมาเที่ยวในครั้งนี้ออนเซนก็ได้ความรู้มากมาย และก็นับได้ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตที่มีโอกาสได้มาชมพระราชวังสนามจันทร์ที่มีอายุกว่าศตวรรษแห่งนี้ค่ะ

ยังพอมีเวลาเหลืออีกไม่กี่วัน…ในสัปดาห์นี้ ออนเซนจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนไปชมพระราชวังสนามจันทร์กันนะคะ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นัก ถ้าพลาดแล้วก็ไม่ทราบว่าจะต้องรอไปอีกนานเท่าไหร่ถึงจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้อีกครั้ง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 034-244 236, 034-244 238-9

ออนเซนเข็นกระเป๋า