ฝากถึงจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ อย่าหยุดแค่ “บอลประเพณี”

ผมได้รับการฝากฝังและร้องขอจากหลายๆ สาย ขอให้ช่วยเขียนประชาสัมพันธ์ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72 ที่จะเตะในวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ให้ด้วยในคอลัมน์นี้

ซึ่งผมก็ทยอยเขียนสั้นๆไปบ้างแล้ว อย่างเช่น เมื่อฉบับวันเสาร์ที่ผ่านมาก็ขึ้นพาดหัวให้ พร้อมกับตั้งใจไว้ว่าจะเขียนให้อีกในเร็วๆ นี้ เพื่อที่จะเป็นกำลังใจและขอบคุณที่ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศไทยเรายังช่วยกันรักษาประเพณีอันดีงามที่แสดงถึงความรักความสามัคคีของทั้ง 2 มหาวิทยาลัยเอาไว้ได้จนถึงบัดนี้

นอกจากการช่วยกันรักษาฟุตบอลประเพณีเอาไว้ได้แล้ว เท่าที่ผมติดตามอยู่ตรงนี้ก็รู้สึกภูมิใจที่ 2 มหาวิทยาลัยยังคงรักษาคุณภาพของการเรียนการสอนเอาไว้ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

ยังเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพป้อนสู่ตลาดแรงงานทุกระดับของประเทศไทยมาโดยตลอด

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมแซงคิวหยิบข่าวฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 72 มาเขียนให้อีกวันนี้ก็เพราะประเด็นเรื่องพัฒนาประเทศชาตินี่แหละครับ

ผมเป็นคนที่เชื่อมั่นมาตลอดว่า ความแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัย ความมีคุณภาพอย่างยิ่งของมหาวิทยาลัยคือ “พลัง” ที่สำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาประเทศของทุกประเทศในโลกนี้

สหรัฐอเมริกาก้าวหน้ามาได้อย่างที่เห็นทุกวันนี้ เป็นเพราะเขามีมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยมมากมายหลายสิบแห่ง และมหาวิทยาลัยระดับดีอย่างธรรมดาอีกหลายร้อยแห่ง

มากพอที่จะเป็นกำลังในการผลิตบุคคลระดับมันสมองออกมาช่วยในการพัฒนาสหรัฐอเมริกาในทุกแขนงและทุกศาสตร์

ขณะเดียวกันก็ยังเป็น “สมอง” ให้แก่ประเทศของเขาโดยตรงด้วยการผลิต “ผลงานวิจัย” ต่างๆ ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบไปจนถึงการเดินทางไปสู่อวกาศ และล่าสุดก็คือเทคโนโลยีดิจิทัล ฯลฯ

จริงอยู่ที่สหรัฐฯเองก็มีมหาวิทยาลัยที่ไม่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเล็กๆและมหาวิทยาลัยห้องแถวต่างๆอีกเป็นร้อยเช่นกัน

แต่จากการที่เขามีมหาวิทยาลัยระดับดีๆมากกว่า และมากพอ สำหรับการที่จะเป็นพลังในการสนองความต้องการของประเทศชาติ ทั้งในแง่ทรัพยากรมนุษย์ และผลงานวิจัยเพื่อนำไปใช้และต่อยอด…แค่นี้ก็พอเพียงแล้ว ที่จะทำให้เขาเติบโตได้อย่างไม่มีวันหยุด

เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย หรือแม้แต่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รวมทั้งจีนด้วย ก็ล้วนแต่มีมหาวิทยาลัยที่ทรงคุณภาพ เป็น “พลัง” อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

ดังนั้น เมื่อหันมามองประเทศไทยของเรา ผมจึงเชื่อในทำนองเดียวกันว่า ถ้าเราจะไปให้ไกล ให้โดดเด่นเหมือนอย่างเขา เราก็จะต้องมีมหาวิทยาลัย ที่มีความแข็งแกร่ง ในทำนองเดียวกับประเทศต่างๆเหล่านั้นมีอยู่

แต่ก็น่าเสียดายที่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของเราทั้งระบบ กลับมีปัญหามากมายเหลือเกิน มากมายจนเกิดความรู้สึกท้อถอย

เรามีสถาบันอุดมศึกษา คือระดับมหาวิทยาลัย หรือเทียบเท่ากว่า 170 แห่ง แต่ก็มีข่าวว่าเป็นมหาวิทยาลัยไร้คุณภาพรวมแล้วหลายสิบแห่ง ทำให้รู้สึกเป็นห่วงเป็นใยว่า ถ้าการศึกษาในระบบมหาวิทยาลัยของเราเป็นอย่างนี้ เราจะไปถึงไหนกับเขาได้

แต่ก็โชคดีที่เรายังมีมหาวิทยาลัยของรัฐที่เก่าแก่ และมหาวิทยาลัยเอกชนที่เก่าพอสมควรจำนวนหนึ่ง ที่ยังมีมาตรฐาน มีคุณภาพมาช่วยพยุงไว้ ไม่อย่างนั้นการพัฒนาของเราจะไม่มีวันเดินทางมาถึงจุดนี้ได้เลย

ผมขออนุญาตไม่เอ่ยถึงมหาวิทยาลัยที่ยังมีคุณภาพอื่นๆ ของประเทศเรา เพราะเอ่ยไม่หมด เดี๋ยวมหาวิทยาลัยที่มิได้เอ่ยถึงจะน้อยใจ

ขออนุญาตเอ่ยเฉพาะ จุฬาฯ และ ธรรมศาสตร์ ที่เขากำลังจะแข่งฟุตบอลประเพณีก็แล้วกัน เอ่ยเพื่อที่จะย้ำเตือนว่า แม้ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยจะมีคุณภาพพอสมควรอย่างนี้แล้ว แต่ถ้าเทียบกับมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นจริงๆในต่างประเทศ เราก็ยังด้อยกว่าเขาอยู่ไม่น้อย

ยังจะต้องปรับปรุง ต้องพัฒนาคุณภาพของทั้ง 2 มหาวิทยาลัยต่อไป และอย่าหยุดนิ่งเป็นอันขาด

นี่แหละครับ…ที่ผมตั้งหัวเรื่องของผม วันนี้ว่า “จุฬาฯ–ธรรมศาสตร์” อย่าหยุดอยู่แค่ฟุตบอลประเพณี เพราะพวกคุณทั้งหลายยังมีภารกิจมีหน้าที่ในการพัฒนาประเทศชาติรออยู่เพียบเลย หลังการเตะฟุตบอล!

“ซูม”